ซิฟิลิส คืออะไร จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นซิฟิลิส?
ซิฟิลิส คืออะไร?
ซิฟิลิส (Syphilis) คือกามโรคชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ในช่วงวัยเจริญพันธุ์
โรคนี้ติดต่อได้อย่างไร?
-
ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ ติดต่อขณะสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือช่องปาก
-
ติดต่อจากแม่สู่ลูก เชื้อนี้สามารถติดต่อจากแม่ ไปสู่ลูกในขณะตั้งครรภ์หรือระหว่างการคลอด
-
ติดต่อทางอื่น เชื้อนี้อ่อนแอและตายง่ายในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ดังนั้นการสัมผัสมือของผู้ที่เป็น ซิฟิลิสหรือการนั่งโถส้วมจะไม่เกิดการติดต่อ แต่เมื่อผิวหนังที่มีแผลสัมผัสกับแผลที่มีเชื้อซิฟิลิส จะมีโอกาสติดเชื้อได้
โรคซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาในระยะยาวอาจแสดงอาการในหลายระบบของร่างกายซึ่งร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โรคนี้มีระยะแฝงตัวของโรคที่ค่อนข้างยาวนาน และสามารถแพร่ไปให้คู่นอน
โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่พบได้บ่อยรองจากหนองในแท้ (Gonorrhea) และหนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis) และสามารถพบเกิดได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย หลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นแผลจะหายได้เอง และจะมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆได้ โดยผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปรกติที่สมอง และระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อได้ต่อเมื่อมีการไปตรวจเลือด เช่น การตรวจเลือดเพื่อบริจาคเลือด หรือการตรวจคัดกรองในระยะฝากครรภ์ ซึ่งโรคนี้มียารักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรมีการตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูระดับผลเลือด
อาการของซิฟิลิสเป็นอย่างไร?
ในช่วงแรกอาจมีแผลที่อวัยวะเพศ หรือไม่มีอาการใดๆ และถ้าไม่รักษาแผลดังกล่าวอาจหายได้เอง แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนตามมา โดยมีระยะต่างๆ ดังนี้
ซิฟิลิสระยะแรก (Primary syphilis) อาการที่สำคัญในระยะนี้ คือ แผลริมแข็งในตำแหน่งที่ติดเชื้อซิฟิลิส ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ
– มีตุ่มแดงแล้วแตกออกเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือ ริมฝีปาก หลังจาก ได้รับเชื้อ 10 – 90 วัน
– มักเป็นแผลเดียวไม่เจ็บ ขอบนูน ต่อมน้ำเหลืองโต แต่กดไม่เจ็บ
– แผลจะเป็นอยู่ 1 – 5 สัปดาห์ และส่วนใหญ่จะหายไปเอง
– การตรวจเลือดในช่วงนี้ให้ผลบวกได้ประมาณสองในสาม
ซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary syphilis) อาการสำคัญในระยะนี้ คือ ผื่นที่เกิดในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังจากแผลริมแข็งหายแล้ว
– ผื่นมีสีแดงน้ำตาล ไม่คัน สามารถพบได้ทั่วตัวรวมทั้งฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีไข้ และอาจมีปวดตามข้อ เนื่องจากข้ออักเสบ
– ต่อมน้ำเหลืองโต
– ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ
– อาการเหล่านี้จะเป็น 1-3 เดือนแล้วหายไปเอง อาจ กลับเป็นซ้ำได้ในบางคน
– การตรวจเลือดในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะให้ผลบวก
ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent syphilis) ช่วงนี้ไม่มีอาการใดๆ เป็นช่วง 2-30 ปี หลังจากรับเชื้อ การวินิจฉัยโรคระยะนี้ทำได้โดยการเจาะเลือด อาจจะเกิดผื่นเหมือนในระยะที่สองได้ มารดาที่ตั้งครรภ์และเป็นโรคระยะนี้ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อไปยังลูกได้
ซิฟิลิสระยะหลัง (Tertiary syphilis) ซิฟิลิสระยะ Late stage ระยะนี้เป็นช่วง 2-30 ปี หลังรับเชื้อ เชื้อซิฟิลิสจะทำลายอวัยวะภายในต่างๆ เช่น หัวใจและหลอดเลือดสมองทำให้อ่อนแรง หรืออาจจะตาบอดได้ หากรักษาไม่ทันท่วงที อวัยวะต่างๆ อาจถูกทำลาย และไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติ
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นซิฟิลิส?
การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจหนอง จากแผลในระยะที่หนึ่งหรือตรวจเลือดในทุกระยะของโรค การตรวจเชื้อทำได้โดย
-
Darkfield Exam ส่องกล้อง Darkfield เพื่อหาตัวเชื้อ การตรวจนี้สามารถวินิจฉัยได้จาก แผล หรือผื่นที่สงสัยที่เกิดในการติดเชื้อระยะแรก และ ระยะที่สอง
-
การตรวจเลือด เป็นการตรวจเลือดเพื่อหา ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส มี 2 วิธี คือ
– การเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเบื้องต้นซึ่งไม่ เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ VDRL หรือ RPR
– การเจาะเลือดที่เจาะจงต่อตัวเชื้อซิฟิลิส เพื่อ ยืนยันการวินิจฉัย เช่น FTA-ABS (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption Test) หรือ MHA-TP (Micro hemagglutination Treponema Pallidum)
สำหรับการตรวจนี้ผู้ที่เคยเป็นซิฟิลิสมาก่อนถึง จะรักษาแล้ว อาจจะให้ผลบวกได้โดยที่ไม่เป็นโรค ในขณะนั้น
-
Cerebrospinal Fluid Test การตรวจน้ำไขสันหลังจะทำในกรณีสงสัยการติดเชื้อในระบบประสาท
การรักษาโรคซิฟิลิส
1.รักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะฉีดเข้ากล้าม หรือการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น โดยได้รับการตรวจและคำปรึกษาจากแพทย์
2.ให้ตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาหลังจากรักษา 6 เดือน และต้องตรวจเลือดซ้ำหลังจากนั้นทุกปี
3.ผู้ป่วยโรคนี้ขณะมีแผลควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือควรสวมถุงยาอนามัยจนกว่าแผลหายสนิท และควรแจ้งให้คู่นอนทราบเพื่อมารับการรักษาด้วย
4.โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเทศ ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่าง สม่ำเสมอ
สำหรับการป้องกันโรคนั้น สามารถทำได้ด้วยการเริ่มจากที่ตัวเรา ขอแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และรับผิดชอบต่อคู่และสังคม ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ขอแนะนำให้พบแพทย์และตรวจเลือดเพื่อตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรคได้
อ้างอิง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข
Tel: 099-131-9919
Website : www.ocare.co.th
Facebook.com/Ocarehealth
Instagram.com/Ocarehealth
Line ID : @ocarehealth
👇👇คลิก https://line.me/R/ti/p/%40hsv2260s
“คลิกโอแคร์ ดูแลถึงบ้าน”
Ocare : โอแคร์ คือ ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพถึงบ้าน พร้อมวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพโดยแพทย์ รับผลตรวจทันทีภายใน 24 ชั่วโมง
#โอแคร์#Ocare#ตรวจสุขภาพ#ตรวจสุขภาพถึงบ้าน#โปรแกรมตรวจสุขภาพ#ตรวจสุขภาพโดยแพทย์#ตรวจสุขภาพโดยพยาบาล#ผลสุขภาพออนไลน์