โรคร้ายที่มากับการนอน
การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนมากจนเกินไป ไม่มีแบบไหนส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะทั้ง 2 แบบ ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณร้าย ที่อาจทำให้สุขภาพร่างกายของเราแย่ลง จนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อได้เลยทีเดียว
แบ่งกลุ่มโรคที่มากับการนอนเป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่มของผู้มีอาการนอนหลับไม่เพียงพอ
นอนไม่เพียงพอ คือการนอนน้อยจากการนอนไม่หลับ, การที่ต้องทำงาน หรืออ่านหนังสือสอบจนดึก และการใช้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่ ที่ต้องมีปาร์ตี้ยามค่ำคืนเกือบทุกวัน เมื่อสะสมนานวันเข้าก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะตื่นสาย, กลิ่นตัวแรง, มีอาการเครียด, หงุดหงิดง่าย และสุดท้ายก็คืออาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เพราะร่างกายและสมองชินต่อการนอนดึก จนทำให้พ่วงปัญหาสุขภาพด้านอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น
โรคมะเร็งลำไส้
โรคยอดฮิตของคนที่ใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ ที่นอนดึกแต่ต้องตื่นเช้าไปทำงานหรือไปเรียน ทานอาหารเช้าไม่ทัน และทานแต่อาหารไม่มีประโยชน์ ไม่เคยออกกำลังกาย จนทำให้เกิดความเสื่อมของระบบภายใน โดยเฉพาะลำไส้ จนกลายเป็นลำไส้อักเสบและลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ไปในทึ่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจุดเริ่มต้นของโรคนี้คือการนอนดึก ได้มีการศึกษาและวิจัยว่าในคน 1,240 คน มีคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชม. ถึง 47% จะมีอาการของมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนที่นอนหลับอย่างน้อย 7 ชม.ขึ้นไป
โรคหลอดเลือดหัวใจ
สารโปรตีนในตัวเรา จะสะสมมากขึ้นในหัวใจเมื่อเวลาเราตื่นโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่นอน หรือนอนดึกสารโปรตีนเหล่านี้ ก็จะยิ่งเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ จนทำให้เกิดการอุดตัน ได้มีการวิจัยในกลุ่มคนที่ทดลองไม่ได้นอนเป็นเวลา 88 ชม. ผลออกมาว่าพวกเค้า มีความดันเลือดที่สูงมากผิดปกติ และในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า
โรคเบาหวาน
เมื่อคนเป็นเบาหวานพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ระดับกลูโคสในเลือด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 23% รวมทั้งระดับอินซูลินในเลือด ก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 48 % ในการวิจัยบางส่วนพบว่า คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว จะเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินจากการนอนไม่พออีกด้วย
ระบบร่างกายรวน
ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด, ท้องเฟ้อ, อาหารย่อยไม่ดี และการถ่ายอุจจาระไม่เป็นปกติ บางครั้งท้องเสียแต่บางครั้งก็อาจท้องผูกขึ้นมากระทัน เพราะกระเพาะอาหารเกิดการล้า จึงทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร
โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
ในบางคนอาจต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ถึงจะสามารถหลับได้ หรืออาจจะหลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้งคืน จนทำให้ตื่นกลางดึก แล้วก็ไม่สามารถหลับอีกเลย และโรคนอนไม่หลับ ยังส่งผลต่อการเข้าห้องน้ำบ่อยทั้งคืน เพราะร่างกายต้องการดูดซับน้ำมากกว่าคนปกติ ซึ่งจะต้องมีอาการแบบนี้เกิน 1 เดือน ถึงจะเรียกว่าการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง
สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง
เพราะการนอนไม่หลับจะทำให้ฮอร์โมน “เทสโทสเทอโรน” ต่ำลง ซึ่งทำให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลงไปด้วย จากการตรวจของแพทย์ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เสื่อมสรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่ มักจะมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนน้อย หรือนอนไม่หลับเลยทั้งคืน
อารมณ์แปรปรวนง่าย
เมื่อนอนไม่ค่อยหลับ ตื่นเช้ามาจึงมีอาการอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า จนทำให้รู้สึกหงุดหงิด, อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ และยังทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปด้วย เนื่องจากสมองที่ไม่ค่อยได้พักจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ และเมื่อเกิดความเครียด ก็จะตามมาด้วยกลิ่นตัวตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายที่จะแรงขึ้นอีกด้วย
วิธีแก้ไขอาการนอนไม่พอ
1.พยายามกำหนดเวลานอนของตัวเองให้เป็นเวลา และปล่อยสมองให้โล่ง หยุดคิดเรื่องราวต่าง ๆ
2.งดดื่มชา, กาแฟ และอาหารต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของสาร ที่สามารถกระตุ้นสมองได้ก่อนนอน ทานอาหารให้ตรงเวลา รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการทานอาหารหนัก หรือเนื้อสัตว์หนัก ๆ ก่อนนอน เพราะจะยิ่งทำให้อึดอัดท้องจนทำให้นอนไม่หลับ
3.ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ขับเหงื่อ ทำให้สมองปลอดโปร่ง
4.งดเล่นคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารทุกชนิดก่อนนอน และปิดไฟทำห้องนอนให้เงียบ เพื่อทำบรรยากาศในการนอนดูน่านอนยิ่งขึ้น
5.ควรเลือกเตียงที่มาตรฐาน นอนสบายไม่แข็งและนุ่มจนเกินไป พร้อมทั้งหาหมอนที่รองรับศีรษะได้พอดี
2.กลุ่มของผู้มีอาการนอนมากจนเกินไป
โรคนอนเกิน ( Hypersomnia )
เป็นโรคที่หลับเกินพอดี หรือโรคขี้เซา ที่ยิ่งนอนมากเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ และจะนอนหลับยาวนานเกิน 8 ชม.ขึ้นไป จะมีอาการดูเฉื่อยชา, ไร้ชีวิตชีวา, ทานน้อยแต่กลับอ้วนง่าย เพราะการนอนทำให้กระเพาะอาหารไม่ย่อย จึงเกิดเป็นตัวอาหารและไขมันสะสม นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าได้ง่ายถึง 49% ซึ่งถือว่ามากกว่าคนปกติ เป็นผลเสียระยะยาว ที่อาจทำให้เราคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ และมีอาการของโรคอื่น ๆ ตามมา ดังนี้
1.ทำร้ายสมอง
เพราะจะทำให้สมองเฉื่อยชา ส่งผลให้ทำอะไร และคิดอะไรเชื่องช้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา ขยับตัวน้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
2.อ้วนง่าย
น้ำหนักเกินที่จะส่งผลให้เป็นโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายทั้ง โรคหัวใจ, ความดัน, เบาหวาน เป็นต้น และต่อให้ทานน้อยก็สามารถอ้วนได้ เพราะกระเพาะอาหารไม่ค่อยได้ทำงานนั่นเอง
3.กลายเป็นคนซึมเศร้า
อารมณ์แปรปรวนง่าย ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข ซึ่งในปี 2012 ได้มีการศึกษากับกลุ่มผู้หญิงสูงวัย โดยในคนที่นอนมากกว่าวันละ 9 ชม. และน้อยกว่าวันละ 5 ชม. สมองจะทำงานแย่ลงในระยะเวลา 2 ปี เพราะฮอร์โมนในร่างกาย และสารเคมี “ซีโรโทนิน” และ “เอนดอร์ฟิน” ที่เป็นสารแห่งความสุขลดต่ำลง
4.ภาวะมีบุตรยาก
ได้มีการศึกษาจากผู้หญิงในเกาหลีใต้ เมื่อปี 2013 พบว่าผู้ที่นอนในระยะเวลา 7 – 8 ชม. ต่อวัน จะมีโอกาสติดลูกได้มากกว่า ผู้ที่นอนนานเกินวันละ 9 ชม. เป็นจำนวนถึง 650 คน เพราะฮอร์โมน และรอบเดือนของผู้หญิง จะเป็นปกติก็ต่อเมื่อต้องได้รับการพักผ่อนที่พอดีอีกด้วย
5.เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเร็ว
เมื่อปี 2010 ได้มีผลวิจัย 16 เรื่อง ที่ตรงกันว่าผู้ที่นอนนานเกินกว่า 9 ชม.ต่อวัน จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอน 7 – 8 ชม. ถึง 1.3 % เพราะผู้ที่นอนมากเกินไปจะหลับง่าย และใช้เวลานาน ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้ขยับ หรือออกกำลังกายใด ๆ จึงไม่สามารถเพิ่มออกซิเจนแก่อวัยวะภายใน เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ง่าย
6.เสี่ยงต่อสภาวะ การหยุดหายใจแบบเฉียบพลัน ( ไหลตาย )
เพราะเนื้อสมองตายเนื่องจากการดับไปของสัญญาณสมอง ที่นานเกินเวลานอนของคนปกติ
วิธีแก้ไขอาการนอนมากเกินไป
1.เข้านอนตรงเวลาทุกวัน
และเมื่อตื่นนอนแล้วให้ลุกเลย อย่าต่อเวลาการนอนออกไปอีก
2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ที่มีสารคาเฟอีนทุกชนิด
3.หากิจกรรมก่อนนอนง่าย ๆ
ที่สามารถทำให้คุณทำได้ทุกคืน เช่น หาหนังสือดี ๆ สักเล่มอ่าน, หวีผม เพื่อให้คุณได้ปรับตัว และพัฒนาการนอนหลับที่ดี
4.อย่ากลัวจนกลายเป็นไม่กล้านอน
หรือบังคับตัวเองไม่ให้นอน เพราะกลัวว่าตัวเองจะนอนนานเกินไป ถ้าทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้พฤติกรรมการนอนผิดรูปแบบ จนอาจกลายเป็นนอนไม่หลับ หรือหลับยาวกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคู่
การนอนที่แตกต่างกันตามช่วงอายุ
เด็กแรกเกิด 14-17 ชั่วโมงต่อวัน
อายุ 1 ปี 14 ชั่วโมงต่อวัน
อายุ 2 ปี 12-14 ชั่วโมงต่อวัน
อายุ 3-5 ปี 10-13 ชั่วโมงต่อวัน
อายุ 6-13 ปี 9-11 ชั่วโมงต่อวัน
อายุ 14-17 ปี 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
ผู้ใหญ่ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
การนอนที่ดี และถูกต้องควรนอนอย่างไร
1.นอน 6 – 8 ชม. ต่อวันเท่านั้น
ห้ามน้อยหรือมากกว่านี้ และควรนอนให้ตรงเวลา ตื่นก็ให้ตรงเวลา โดยควรจะนอนก่อน 4 ทุ่ม แล้วตื่นประมาณ ตี 5 ถึง 6 โมงเช้า แค่นี้ก็กระปรี้กระเปร่าเตรียมรับเช้าวันใหม่ อย่างสดชื่นได้แล้ว
2.อาบน้ำก่อนนอนทุกครั้ง
ไม่ว่าจะทำงานหรือเรียนหนักแค่ไหน ก็ควรที่จะอาบน้ำก่อนนอน เพราะถ้าเราไม่อาบจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เหนียวตัวจากคลาบเหงื่อไคลที่เราต้องเจอมาตลอดทั้งวัน จนทำให้รู้สึกนอนไม่หลับไปในที่สุด
3.นอนเวลากลางคืนเท่านั้น
ไม่ควรนอนเวลากลางวัน หรือถ้านอนกลางวันก็ไม่ควรนอนนานเกิน 1 ชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ หรือในคนที่นอนกลางวันนานเกิน 2 ชม.ขึ้นไป ก็จะเริ่มเสี่ยงที่จะนอนกลางคืนเร็วขึ้น และยาวนานขึ้นอีกด้วย
4.ทำกิจวัตรทุกอย่างในชีวิต
ให้เป็นระเบียบ ตรงเวลา และสม่ำเสมอ หรือในบางคนอาจเรียกเวลาเหล่านี้ว่า “นาฬิกาชีวิต” เมื่อทุกอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบ สุขภาพกายและใจก็จะดีขึ้นทันตาเห็น
5.ไม่ควรใช้ยานอนหลับ
ในรายที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังเด็ดขาด ควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนด้วยตัวเอง จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการดื้อยา จนต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ และในรายที่นอนจนเกินไป ก็ไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทเพื่อให้ไม่นอน และปลุกให้ตัวเองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะอาจทำให้คุณเกิดอาการหลอน และกลายเป็นอาการทางจิตประสาทไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามการนอนแต่พอดีไม่มากไป ไม่น้อยไป เราต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เข้ากับสุขภาพของเรา มากกว่าการทำตามยุคสมัย เพราะเรื่องการนอนไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ ที่เราจะมองข้าม ไม่ใช่แค่เพียงล้มตัวลงนอนแล้วก็หลับไป แต่เป็นเรื่องของการพักสมอง และซ่อมแซมปรับปรุงทุกส่วนของร่างกายในขณะที่เราหลับ เราจึงต้องให้ความสนใจกับวิถีในการนอนให้มาก เพื่อที่จะได้ตื่นเช้ามาอย่างสดชื่น และพร้อมที่จะออกไปลุยได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่มีเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ มารบกวนระหว่างวันได้ ด้วยความเป็นห่วง และห่วงใยจากโอแคร์ค่ะ
อ้างอิงจาก กรมสุขภาพจิต , สสส ,
Tel: 099-131-9919
Website : www.ocare.co.th
Facebook.com/Ocarehealth
Instagram.com/Ocarehealth
Line ID : @ocarehealth
👇👇คลิก https://line.me/R/ti/p/%40hsv2260s
“คลิกโอแคร์ ดูแลถึงบ้าน”
Ocare : โอแคร์ คือ ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพถึงบ้าน พร้อมวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพโดยแพทย์ รับผลตรวจทันทีภายใน 24 ชั่วโมง
#โอแคร์#Ocare#ตรวจสุขภาพ#ตรวจสุขภาพถึงบ้าน#โปรแกรมตรวจสุขภาพ#ตรวจสุขภาพโดยแพทย์#ตรวจสุขภาพโดยพยาบาล#ผลสุขภาพออนไลน์